วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรคและการป้องกันรักษา

โรคพิษสุนัขบ้า....หน้าไหนก็อันตราย

เมื่อก่อนเรามักจะเข้าใจว่าโรคพิษสุนัขบ้ามักจะเกิดในหน้าร้อนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดจริง ๆ แล้วโรคดังกล่าวหน้าไหนก็อันตรายได้ทั้งนั้นถ้าขาดความระมัดระวังหรือไม่ฉีดวัคซีนป้องกันแต่เนิ่น ๆ

                เชื่อหรือไม่ว่า...ในแต่ละปี โรคพิษสุนัขบ้าทำให้คนเสียชีวิตประมาณ 55,000 ราย น่าตกใจว่า 95 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 52,250 รายเกิดในเอเชียและแอฟริกา และประมาณ 30-60 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในประเทศไทยปี 2553 มีคนเสียชีวิตถึง 14 ราย และน่ากลัวกว่านั้นคือ 6 ราย เป็นคนในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ที่มีคนอยู่เกือบสิบล้านคน และสุนัขและแมวกว่าสองแสนตัว ซึ่งประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นสุนัข แมวที่ไม่มีเจ้าของ หรือมีคนให้ข้าวให้น้ำแต่ไม่ได้ดูแลจริงจัง ดูตัวเลขแล้วอาจจะคิดว่านิดเดียว แต่ถ้าคิดถึงโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถป้องกันได้แล้ว ทำไมเราไม่หันมาป้องกันไม่ให้เสียชีวิตได้อย่างโรคพิษสุนัขบ้า

                อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ความเชื่อที่ผิด ๆ ที่มั่นใจว่าสุนัขที่เลี้ยงไว้เองอยู่แต่ในบ้านหรือลูกสุนัข จะไม่เป็นโรค ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพียงเข็มเดียวจะคุ้มไปได้ตลอดชีวิต ความคิดนี้เกือบทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในเขตสายไหม

                เนื่องจากเจ้าของสุนัขฉีดป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้พ่อสุนัขเมื่ออายุ 3 เดือน เพียงครั้งเดียว และคิดว่าไม่จำเป็นต้องฉีดอีก สุนัขตัวอื่นที่เลี้ยงไว้อีก 2 ตัวก็ไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะเชื่อว่า “เลี้ยงในบ้านปลอดภัยไม่ต้องฉีดวัคซีน”  แม่สุนัขก็ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อมีลูกสุนัขเกิดใหม่ จำนวน 6 ตัว หลังออกลูกได้ 18 วัน แม่สุนัขแสดงอาการไม่กินอาหาร ดุร้าย กัดพ่อสุนัข และลูกตัวเอง 2 ตัว ลูกสุนัขที่เหลือตัวหนึ่งมีอาการชัก ไม่หายใจเจ้าของจึงทำการช่วยชีวิตโดยการเป่าปาก  (mouth-to-mouth) ทำให้ลูกสุนัขฟื้นขึ้นมาได้ แต่ลูกสุนัขกัดเข้าที่ปากเป็นแผลถลอก หลังจากกัด 3 วันลูกสุนัขก็ตายเอง โดยที่ไม่ได้ส่งไปรักษา และไม่ได้ส่งตรวจ ต่อมาลูกสุนัขที่เหลือทยอยตาย รวมทั้งพ่อสุนัข เจ้าของสุนัขเล่าให้ฟังว่า แม่สุนัขมีนิสัยชอบกัดกับแมว ก่อนหน้านี้กัดแมวตายไปหลายตัว และเคยเห็นสุนัขจรจัดกัดกันอยู่หน้าบ้านที่เขตสายไหม และบริเวณหน้าบ้านนี้เป็นซอยตัน เป็นที่ที่มีคนให้อาหารสุนัขจรจัดบริเวณนั้น โดยมีผู้ใจบุญในหมู่บ้านขับขี่รถจักรยานยนต์นำอาหารมาเลี้ยงสุนัขจรจัด ยังเป็นความโชคดีที่ผู้ที่รับลูกสุนัขไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ เมื่อลูกสุนัขตาย สัตวแพทย์ที่รักษาจึงส่งตรวจ และพบว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่สัมผัสโรคทั้งหมด 11 คนได้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว หวังว่าจะทันเวลาไม่อย่างนั้นอาจมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าถึง 11 คน

                จะมั่นใจได้อย่างไรว่า สุนัขที่เลี้ยงไว้จะไม่มีโอกาสสัมผัสสุนัขอื่น ถ้าไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดเพียงเข็มเดียว ฉีดแล้วปล่อยสุนัขออกนอกบ้าน นำสุนัขอื่นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข้ามาในบ้าน หรือเห่าตามแนวซี่รั้วบ้านเมื่อมีสุนัขผ่านแล้วถูกกัด

                ...สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้อีกอย่างหนึ่งก็คือ โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดเฉพาะในสุนัขเท่านั้น แต่โรคนี้เกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า และเกิดได้ตลอดทั้งปีไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อน คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเกิดเฉพาะในหน้าร้อน…

                วันนี้นำลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ไม่ต้องรอให้ถึงหน้าร้อน เพราะ..หน้าไหนก็อันตราย  ถ้าไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า.


ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์
 

สังเกตสัญญาณ มะเร็ง มาเยือนเจ้าตูบ


            "มะเร็ง"... โรคร้ายที่ไม่เพียงแค่คร่าชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่ยามใดที่มะเร็งมาปักหลักในร่างกายของน้องหมา มันก็อาจพรากลูกรักสี่ขาของเราได้เหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนมาก กว่าจะรู้ว่า มะเร็ง เข้ามาจับจองพื้นที่ร่างกายก็เกือบสายเกินเยียวยาแล้ว ดังนั้น จะเป็นการดีกว่า หากหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของน้องหมา เพื่อจะได้รู้ทันเจ้าเนื้อร้าย และสามารถรักษาให้หายได้ หากรู้ทันท่วงที

           สำหรับการตรวจจับสัญญาณที่บ่งชี้ว่า น้องหมาของเราอาจจะเป็นโรคมะเร็ง รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร สัตวแพทย์ชื่อดัง แนะนำให้สังเกตอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

           - มีก้อน หรือลักษณะบวม ปรากฏขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และขนาดขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
           - เกิดแผลที่ไม่ยอมหายเสียที แม้ให้การรักษาแล้ว หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ ซ้ำซากอยู่ที่เดิม
           - ขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกบ่อย ท้องร่วงต่อเนื่อง ปวดท้องครางหงิง ๆ ฉี่ลำบาก มีเลือดปนฉี่ ฯลฯ
           - มีเลือดออกตามช่องเปิดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดไหลจากช่องคลอด ฯลฯ
           - มีของเหลวไหลออกมาจากช่องต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หนองไหลจากจมูก น้ำเหลืองซึมจากรูหู ฯลฯ
           - เบื่ออาหาร แม้กระทั่งของที่เคยชอบก็ไม่ยอมกิน หรืออยากกิน แต่กลับกลืนได้ลำบาก เคี้ยวลำบาก งับอาหารแล้วร่วง ฯลฯ
           - น้ำหนักตัวลดลง ผอมโซ
           - หายใจติดขัด อ้าปากหายใจ
           - เจ็บข้อขาเรื้อรัง ลุกลำบาก ร้องครางเวลาลุก-นั่ง หรือจับบริเวณข้อ จะร้อง หรือขาแข็งเกร็ง
           - มีกลิ่นเหม็นผิดปกติรุนแรงจากร่างกาย เช่น ช่องปาก รูหู ลมหายใจ ฯลฯ
 
           ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นความผิดปกติเพียงแค่บางอย่างดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพย์ เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด ที่สำคัญควรจดจำอาการผิดปกติทุกอย่างและอธิบายให้สัตวแพทย์รับทราบอย่างละเอียด เพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคได้ง่าย และเป็นประโยชน์แก่ตัวสุนัขด้วย


ที่มา :  คมชัดลึก และ เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
คน-สัตว์ออกอาการ พิษสุนัขบ้า
 
    ภายหลังร่างกายได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นไวรัส เรบีส์ ที่เข้าไปฟักตัวในสมอง ส่งผลให้ทั้งคนและสัตว์ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการที่บ่งบอกให้ทราบถึงการติดเชื้อร้ายดังกล่าว              สำหรับคนจะมีอาการที่แบ่งได้ 2 ประเภท คือ อาการคลุ้มคลั่ง ผู้ป่วยจะอาละวาด กระวนกระวาย ตระหนกต่อสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง ลม รู้ตัวสลับไม่รู้ตัว สูญเสียความจำในบางครั้ง เมื่อผ่านไป 2-3 วัน ผู้ป่วยจะซึมเศร้า ไม่รู้สึกตัว หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ และอาเจียนเป็นเลือด บ้างก็มีอาการกลัวลม กลัวน้ำ
             จากนั้นจะรู้สึกคัน ปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผลที่ถูกกัด ขนลุก รูม่านตาไม่ตอบสนองต่อแสง และมีน้ำลายไหลมากถึงขั้นต้องบ้วนทิ้ง ส่วนอาการที่พบในคนอีกประเภท คือ อัมพาต กล้ามเนื้อแขน-ขาอ่อนแรง เพราะไวรัสเพิ่มจำนวนมากที่ไขสันหลัง โดยอาจเสียชีวิตภายใน 13 วัน  ขณะที่กลุ่มอาการแบบแรก อาจทำให้เสียชีวิตภายใน 2-3 วัน  แต่สำหรับสัตว์ที่มีเชื้อจะแสดงอาการ 2 แบบ คือ แบบดุร้าย ซึ่งพบบ่อยและสังเกตได้ชัดเจน และแบบซึม ที่อาการไม่ชัดเจน ในสัตว์โดยเฉพาะสุนัข แบ่งอาการได้ 3 ระยะ เริ่มจากระยะอาการนำ พฤติกรรมเปลี่ยน เช่น เคยซุกซน กลับซึม ไม่กินอาหาร จะมีอาการดังกล่าว 2-3 วัน จึงเข้าสู่ระยะตื่นเต้น คือ อาการทางประสาท กัดทุกอย่าง ตัวแข็ง และน้ำลายไหล ลิ้นห้อย พร้อมแสดงอาการกระวนกระวาย ระแวง ไม่อยู่นิ่ง ต่อมาแขน-ขาจะอ่อนแรง ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น มีอาการราว 1-7 วัน ก่อนเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่ทำให้ตายได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 10 วัน โดยสัตว์ที่ได้รับเชื้อจะเป็นอัมพาตทั่วตัว
             พรุ่งนี้ ‘มุมสุขภาพ’ เตรียมวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังถูกสัตว์ทีติดเชื้อกัดหรือข่วน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจนเสียชีวิต.
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แฟน ๆ มุมสุขภาพ สามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับ สิทธิ์ร่วมกิจกรรมพิเศษกับ 'เดลินิวส์ออนไลน์' เพียงคลิกสมัครสมาชิก.


ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์

พิษสุนัขบ้า ภัยร้ายใกล้ตัว...

     โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นหนึ่งในอีกหลายโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดย 90% ของสัตว์ที่ตรวจพบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าคือ สุนัข รองลงมา คือ แมว โค กระบือ โดยเชื้อจะแพร่จากการที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือเลีย เป็นผลให้เชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำลายสัตว์เข้าสู่บาดแผลของผู้ถูกกัดหรือเป็นอยู่แล้วและเชื้อผ่านเข้าสู่เส้นประสาทสมองทำให้มีอาการทางประสาท เกิดอัมพาตของระบบหายใจและเสียชีวิตในที่สุด จากรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าใน คนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ปี 2551 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 8 ราย ปี 2552 เสียชีวิต 24 ราย และในปี 2553 (วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 8 มีนาคม) มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วถึง 7 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 2 ราย ในจำนวนนี้อยู่ใน กทม. 3 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี สระบุรี สมุทรปราการและตาก จังหวัดละ 1 ราย โดยสาเหตุหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย คือ ความเข้าใจผิดและความประมาท เช่น เจ้าของสัตว์ เข้าใจว่า ลูกสุนัขหรือสุนัขที่เลี้ยงไว้ภายในบ้าน ไม่สัมผัส กับสัตว์อื่นไม่ต้องฉีดวัคซีน หรือกรณีเมื่อ ถูกลูกสุนัขหรือสุนัขในบ้านกัด ข่วน เลีย จะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า หรือเข้าใจว่าโรคพิษสุนัขบ้า จะเกิดเฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น เป็นต้น
   
                ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณ สุข, สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมมือกันรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้ามาอย่างต่อ เนื่อง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ได้มุ่งเน้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมดำเนินโครงการรณรงค์ฉีดป้องกันโรคพิษ  สุนัขบ้าโดยมีกิจกรรม การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การผ่าตัดทำหมัน การฉีดยาคุมกำเนิด การรับเลี้ยงสุนัขจรจัดและสุนัขที่เจ้าของไม่ต้องการรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนัก ถึงพิษภัยของโรคดังกล่าว ซึ่งจัดเป็นประจำในระหว่างเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายนของทุกปี                  ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการปลอดโรคพิษสุนัขบ้า  โดยมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยงของประชาชน ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ซึ่งดำเนินการในเดือนมีนาคม 2553 ตลอดทั้งเดือน    
       
                ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศ วิธีที่ดีที่สุด คือ การให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดคนอย่างสุนัขและแมว นอกจากนี้จะต้องปลูกฝังทัศนคติความรับผิดชอบให้ผู้เลี้ยงสุนัข-แมว ไม่ปล่อยสุนัข-แมวในที่สาธารณะ เช่น วัด ชุมชน ถนน สวนสาธารณะ เป็นต้น และอาจลุกลามกลายเป็นสุนัข-แมวจรจัดต่อไป ซึ่งเป็นภาระต่อสังคมและเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เจ้าของสัตว์ในการเลี้ยงและการดูแลสุขภาพสัตว์ที่ถูกต้อง สามารถป้องกันโรคระบาดสัตว์ติดต่อมายังมนุษย์ได้   ถ้าดำเนินมาตรการเหล่านี้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง และจริงจัง โรคพิษสุนัขบ้าจะหมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าได้
   
                กรมปศุสัตว์ ขอเชิญประชาชนร่วมโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขที่ถูก ต้องประจำปี 2553 ระหว่างนี้ไปจนถึง 30 เมษายน 2553 โดยนำสัตว์มารับบริการได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ของท่านได้ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมปศุสัตว์ โทร. 0-2653-4444 ต่อ 4142 หรือ www.dld.go.th/dcontrol.

ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์

เข้าใจ ใส่ใจ ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า

เข้าใจ ใส่ใจ ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า
           "มาป้องกันตัวเราและสัตว์เลี้ยงของเราจากโรคพิษสุนัขบ้ากันเถอะ"
สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
        โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า Rabies virus (รูปที่ 1)ซึ่งเป็น single-stranded RNA virus, genus Lyssavirus, Family Rhabdoviridae โดยไวรัสชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว กระรอก กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ หนูแกสบี้ เฟอเรต รวมทั้งในคนด้วย
รูปที่ 1 แสดง Rabies virus
การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า
        เกิดจากเชื้อ Rabies virus ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในน้ำลายของสัตว์ตัวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าเข้าทางบาดแผลผิวหนังหรือหรือแม้แต่เยื่อ
เมือกที่ถลอกผ่านทางการกัดหรือเลีย โดยเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการเสียหายอย่างถาวรของระบบประสาท ทำให้สัตว์หรือ
คนที่ติดเชื้อเสียชีวิต 100% จัดเป็นโรคสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุด
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า
        อาการของโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งออกป็น 2 ระยะใหญ่ๆคือ
        1. ระยะไม่แสดงอาการ เป็นระยะฟักตัวของไวรัสภายในร่างกาย ซึ่งกินระยะเวลาเป็นเดือนจนถึงหลายปี
        2. ระยะแสดงอาการก้าวร้าว ดุร้ายไม่มีสาเหตุ อารมณ์-พฤติกรรมเปลี่ยน ชัก ขากรรไกรแข็งเป็นอัมพาต ทำให้น้ำลายไหลตลอดเวลา
ไม่สามารถกินหรือกลืนอาหารและน้ำได้ ที่เราเรียกว่าโรคกลัวน้ำ (รูปที่2)

รูปที่ 2 สุนัขที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
 แนวทางการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง
        โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้โดย
        1. นำสัตวเลี้ยงไปทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากับสัตวแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลรักษาสัตว์ที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากคุณภาพและปริมาณของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตลอดจนขั้นตอนการทำวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการป้องกันโรคได้ภายหลังการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ซึ่งหากวัคซีนที่ใช้ไม่มีคุณภาพ การเก็บรักษาวัคซีนไม่เหมาะสม ใช้วัคซีนในปริมาณไม่เพียงพอ หรือแม้แต่วิธีการฉีดวัคซีนไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้การทำวัคซีนไม่ประสบผลสำเร็จคือไม่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
โดยถ้าเป็นลูกสัตว์จะเริ่มทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่อายุตั้งแต่ 3-4 เดือน และกระตุ้นเข็มที่ 2 ซ้ำในอีก 3-4 สัปดาห์ จากนั้นกระตุ้นซ้ำในทุกๆปี ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจัดเป็นวัคซีนจำเป็นที่ต้องทำให้กับสัตว์เลี้ยง(ลูกด้วยนม) ทุกตัวในบ้านและต้องทำทุกปี
        2. หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราไปสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์อื่นที่ไม่ทราบประวัติการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
        3. หากสัตว์เลี้ยงของเราไปสัมผัสหรือถูกสัตว์อื่นที่ไม่ทราบประวัติการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากัด ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อล้างทำความสะอาดแผล กระตุ้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขซ้ำและอาจต้องกักตัวสัตว์เลี้ยงไว้ดูอาการอย่างน้อย 10 วันในแล้วแต่กรณี
        สำหรับในประเทศไทยการก่อโรคของเชื้อ Rabies virus และการติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้านี้สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการป้องกันโรคนี้สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอทำวัคซีนเฉพาะในหน้าร้อนอย่างเดียว

ที่มา และ ภาพประกอบ : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

หน้าร้อนนี้ ...น้องหมา น้องแมวฉีดวัคซีนหรือยัง?
เวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีน

            การเลือกเวลาฉีดวัคซีนให้เหมาะสมกับสุนัขและแมวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก   โดยเฉพาะการเริ่มวัคซีนเข็มแรกในชีวิตของสุนัข
และแมวถ้าเริ่มฉีดวัคซีนเร็วไปก็สามารถส่งผลเสียได้เพราะอาจไปหักล้างกับภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากแม่(maternal immune)  
            ถ้าเริ่มฉีดวัคซีนช้าไปก็ทำให้ลูกสัตว์ไม่มีภูมิคุ้มกัน  เสี่ยงต่อการติดโรคได้ง่าย   นอกจากนี้การฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่
คุณหมอกำหนด จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสามารถภูมิคุ้มกันได้สูงพอจนถึงระดับที่เรียกว่าภูมิสูงมากพอที่จะป้องกันตัวได้ (protective immune)

ก้อนแข็งคล้ายฝี (Sterile abscess)
            หลังการฉีดวัคซีน   น้องหมาแมวบางตัวอาจเกิดเป็นก้อนแข็งคล้ายฝี(ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ)ตรงตำแหน่งที่ฉีดได้   ซึ่งเป็นปฏิกิริยา
ตอบสนองต่อวัคซีนที่ไม่เท่ากันในแต่ละตัว จึงควรนวดคลึงเบาๆหลังการฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุกครั้ง   เพื่อเร่งให้ยากระจายออกโดยเร็ว  
ช่วยลดโอกาสการเกิด sterile abscessดังกล่าว

คุณภาพของวัคซีนที่ให้  

            ขบวนการเก็บรักษาวัคซีนที่อุณหภูมิเหมาะสมที่ (2-8 องศาเซลเซียส) จนถึงขั้นตอนการผสมวัคซีนก่อนฉีดเข้าร่างกายสุนัขและ
แมว  ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง   เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ความสะอาดและความปลอดภัย

            เทคนิคการเตรียมยาตลอดจนมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ว่าจะเป็น เข็ม  ควรเลือกใช้ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือdisposable คือ
1เข็ม1ตัว   เพื่อความปลอดภัยและปิดโอกาสการติดเชื้อจากเข็มฉีดยา


ที่มา : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต


น้ำตานั้น สำคัญไฉน

  น้ำตาในคนนั้นสามารถบ่งบอกอะไรได้หลายอย่างโดยเฉพาะอารมณ์และความรู้สึกเช่นโกรธ เสียใจ หรือแม้กระทั่งดีใจตื้นตันใจ แต่ในสุนัขนั้นน้ำตาสามารถบ่งบอกโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตาสุนัขได้ ตั้งแต่สีเช่น สีน้ำตาล สีเขียว สีขาวขุ่น หรือสีใส สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงลักษณะการติดเชื้อ โรคหรือเป็นสิ่งที่จะประกอบการช่วยวินิจฉัยโรคตาได้ นอกจากนั้นปริมาณน้ำตาของสุนัขยังเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้

           สำหรับเครื่องมือในการวัดปริมาณน้ำตาที่ปัจจุบันถือเป็นมาตรฐานยอมรับกันทั่วไปคือ
Schirmer tear test (STT) เป็นกระดาษแผ่นบางชิ้นเล็กสอดเข้าไปบริเวณเปลือกตาล่างทิ้งไว้ 1 นาทีแล้วดูว่าน้ำตาซึมเข้ามาที่กระดาษกี่มิลลิเมตร STT > 15 มิลลิเมตร เท่ากับปกติ STT 10-15 มิลลิเมตร เท่ากับว่ามีแนวโน้มเป็นโรคตาแห้ง
STT < 10 มิลลิเมตร เท่ากับเป็นโรคตาแห้ง
สำหรับกรณีมากกว่า 20-25 มิลลิเมตรจะถือว่ามากไปจนทำให้เกิดโรค

       แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาการของสุนัขด้วยเช่นถ้าสุนัขมีน้ำตาไหลมากร่วมกับหรี่ตาหรือตาแดงมากนั่นอาจเป็นปัญหากระจกตาเป็นแผล กระจกตาอักเสบได้ แต่ถ้าสุนัขมีน้ำตาไหลมากด้วยไม่มีปัญหาตาแดงไม่มีอาการหรี่ตาน้ำตาที่ไหลออกมาเป็นน้ำตาใสๆ ร่วมกับมีคราบติดบริเวณร่องจมูกเราสามารถแบ่งปัญหานี้ออกเป็น 2 สาเหตุ 1. มีการผลิตน้ำตามากเกินไป เช่นมีการระคายเคืองเนื่องจากขนตาขึ้นผิดที่ก็เป็นไปได้ 2. มีการผลิตน้ำตาเท่าเดิมแต่การระบายออกไม่ดีเช่นมีการอุดตันของท่อน้ำตา ท่อน้ำตาตีบ ท่อน้ำตาอักเสบ หรือเป็นโรคมาแต่กำเนิด

       กรณีที่มีปัญหาน้ำตาน้อยเกินกว่าปกติวัด STT ได้ 10 มิลลิเมตร ต่อ 1 นาที วินิจฉัยว่าเป็นโรคตาแห้งซึ่งอาการส่วนใหญ่สุนัขจะมีขี้ตาเยอะมาก ขี้ตาแห้งกรัง เช็ดขี้ตาให้สุนัขแล้วสักพักก็เป็นอีก หรือสุนัขมีปัญหาตาแดงมานานมาก กระจกตาขาวขุ่น มีเม็ดสีดำ น้ำตาลขึ้นที่กระจกตา อาการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการของสุนัขที่เป็นโรคตาแห้ง
สาเหตุส่วนใหญ่ได้แก่ระบบภูมิคุ้มกัน (immune mediated) สายพันธุ์ (breed predisposing) พันธุกรรม (genetic) การติดเชื้อ (infection) อายุ (aging)
ดังที่กล่าวมาข้างต้น STT สามารถวัดปริมาณน้ำตาในสุนัข และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ได้บอกว่าดวงตาของสุนัขนั้นมีปัญหาหรือไม่ ถ้ารู้สึกว่าสุนัขของท่านเริ่มมีปัญหาที่ดวงตาอย่าลืมนึกถึงการวัดน้ำตาด้วย STT นะคะ
 
ที่มา และ ภาพประกอบ : โรงพยาบาลสัตว์ ทองหล่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น