วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเลี้ยงดูสุนัข

เรื่องน่ารู้ ช่วงหน้าร้อน


    ช่วงนี้ทั้งกลางวันและกลางคืนอากาศร้อนจัดมาก อีกทั้งความชื้นรอบๆตัวยังสูงขึ้นด้วย ทั้งอากาศร้อนและความชื้นสูงมีผลทั้งคนและ
สัตว์เลี้ยงอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องง่ายๆใกล้ๆตัว อย่างเช่น

             1. อาหารเน่าเสียง่าย โดยเฉพาะอาหารที่มีความชื้นในตัวสูงเช่น อาหารกระป๋องหรืออาหารที่เจ้าของปรุงขึ้นเอง เนื่องจากความชื้น
หรือน้ำในอาหารนั้นจะเป็นแหล่งอาหารให้แก่เชื้อโรคได้อย่างดี ทำให้อาหารดังกล่าวจะบูด เน่า เสียง่าย โดยเฉพาะเมื่อตั้งทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ
เป็นสาเหตุให้สัตว์เลี้ยงแสดงอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้องได้

             คำแนะนำ ควรให้อาหารในแต่ละมื้อให้ในปริมาณไม่มาก เพื่อสัตว์เลี้ยงจะได้กินให้หมดในระยะเวลาไม่นานนัก และค่อยเพิ่มให้อีก
หากเจ้าตัวน้อยรู้สึกไม่อิ่ม เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งอาหารให้เน่าเสียคาถ้วยชามเปล่าๆ วิธีการนี้ใช้ได้กับอาหารทุกประเภทรวมทั้งอาหารเม็ดด้วย
เพราะเมื่ออากาศร้อนชื้นอาหารเม็ดก็มีโอกาสเน่าเสียได้เช่นกันถึงแม้ในอาหารนั้นจะมีความชื้นไม่สูงนักก็ตาม

             2. กระหายน้ำมากเป็นพิเศษ ในช่วงหน้าร้อนสัตว์เลี้ยงก็เหมือนคนที่จะหิวน้ำมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจมากกว่าเดิมได้ถึง 2-3 เท่า
โดยเฉพาะในพันธ์ที่ซุกซนหรือลูกสัตว์ที่วิ่งเล่นซนทั้งวัน อีกทั้งช่วงหน้าร้อนน้ำในถ้วยชามหรือแม้กระทั่งในขวดที่เตรียมไว้ให้สัตว์เลี้ยงนั้น
จะระเหยออกไปได้ง่ายอีกด้วย

             คำแนะนำ เจ้าของสัตว์เลี้ยงควนหมั่นมาคอยดูและเติมน้ำในภาชนะที่เตรียมไว้ให้สัตว์เลี้ยง อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงขาดน้ำ

             3. อากาศรอบตัว โดยเฉลี่ยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับสุนัขและแมวอยู่ที่ประมาณ 26-28° C ถ้าหากอุณหภูมิหรืออากาศรอบตัว
สูงเกินกว่า 32-35° C สุนัขและแมวจะเริ่มแสดงอาการหอบ หายใจเร็ว เพื่อเป็นการระบายความร้อนเนื่องจากไม่มีติอมเหงื่อต่างจากในคน
และหากอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่จะหอบระบายความร้อนของร่างกายออกได้ทัน สุนัขและแมวอาจะเกิดภาวะ Heat stroke จนช็อคและเสียชีวิตได้

             คำแนะนำ ควรตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยงให้สั้นลงเพื่อเป็นการช่วยลดความร้อนในร่างกาย และให้สัตว์อยู่ในที่ๆมีลมพัดผ่านและมีการ
ระบายอากาศได้ดีตลอดเวลา และหากวันใดอากาศภายนอกสูงเกิน 37 ° C หากเป็นไปได้ควรเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้สัตว์อยู่ด้วย
รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้านหรือรถยนต์ที่ไม่มีการระบายอากาศอย่างเพียงพอโดยเด็ดขาด


ที่มา : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต


เลี้ยงสุนัข อย่างไรปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

   โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำหรือในภาษาอีสานเรียกว่า โรคหมาว้อ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่งที่มนุษย์รู้จักมากว่า 500 ปีแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการกัด หรือ ข่วน จาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู เป็นต้น เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเรบีส์ (Rabies)  ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาหายแต่สามารถป้องกันได้  ผู้ป่วยมักคงสภาพอยู่ได้นานไม่เกิน 1 สัปดาห์และเสียชีวิต  เนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อและ ระบบทางเดินหายใจ
   
              กรมปศุสัตว์ออกมาตรการเข้มเพื่อป้องกันอันตรายที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชน โดยเบื้องต้นให้ความรู้ประชาชนที่เลี้ยงสุนัข-แมวให้เลี้ยงสัตว์ของตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากปัจจุบันยังคงพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย โดยในปี 2553 (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553-2 เมษายน 2553) พบผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 10 ราย
   
              นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เตือนประชาชนให้ระวังโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งประเทศไทยยังคงพบโรคนี้ โดยเฉพาะในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 10 ราย โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลือดอุ่นและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว แพะ ช้าง ม้า สุนัข รวมทั้งคน แต่พบมากที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุนัข และแมวจรจัดที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและการติดโรคส่วนใหญ่เนื่องจากถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ข่วน หรืออาจได้รับเชื้อทางน้ำลายเข้าทางบาดแผลหรือเยื่อเมือกได้
   
              สำหรับสถิติเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่น่าสนใจ คือในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า 55,000 รายทั่วโลก ซึ่ง 95% หรือประมาณ 52,250 ราย เกิดในทวีปเอเชียและแอฟริกา และประมาณ 30-60% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 10-20 ราย จากเดิมที่เคยมีคนเสียชีวิตปีละกว่า 300 ราย ด้วยวัคซีนที่ถูกพัฒนาใช้ฉีดในคนมีคุณภาพดี ปลอดภัย ราคาไม่แพง และฉีดเพียง 5 เข็ม ทำให้คนเสียชีวิตลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนละความสนใจและไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อโรคนี้สักเท่าใด
   
              ในปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษาที่ได้ผล ผู้ที่เป็นโรคนี้มักเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น การป้องกันโรคจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะผู้เลี้ยงที่คลุกคลีกับสุนัข-แมว ซึ่งการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทำได้ 2 ทาง คือ การป้องกันที่สัตว์เลี้ยง และป้องกันที่ตัวเรา
   
              การป้องกันที่สัตว์เลี้ยงวิธีที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในลูกสัตว์เริ่มฉีดเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุ 3 เดือน จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ การปล่อยสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเพ่นพ่านนอกบ้าน อาจจะทำให้ ได้รับเชื้อจากสุนัข-แมวจรจัดได้ ดังนั้น ผู้  ที่คิดจะเลี้ยงสุนัข-แมว จะต้องคิดอยู่เสมอ ว่าจะต้องรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ตลอดชีวิต ไม่ทิ้งสัตว์ เมื่อมันมีขนาดที่ใหญ่โต  ขึ้น เจ็บป่วย หรือเริ่มไม่น่ารัก ผู้เลี้ยงควรดูแลด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพื่อไม่เป็นภาระแก่สังคม และลดปัญหาการเกิดสุนัข-แมวจรจัด
   
              การป้องกันตัวเรา วิธีการที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเมื่อพบสุนัข-แมวที่ไม่ทราบประวัติว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนหรือไม่ แต่หากถูกสุนัข-แมวดังกล่าวกัดหรือสัมผัสน้ำลายทางบาดแผล ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลาย ๆ ครั้งทันที ถ้ามีเลือดออกควรให้ไหลออกมาเพราะเลือดจะพาเอาเชื้อออกมาด้วย ใส่ยาทาแผลเช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ แล้วรีบไปพบแพทย์  พร้อมข้อมูลตัวสัตว์เพื่อเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ควรกักสัตว์ไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน ถ้าสัตว์แสดงอาการผิดปกติจากเดิม เช่น ให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที โดย  นำสุนัข-แมวดังกล่าวส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้า ต่อไป
  ในปี 2553 กรมปศุสัตว์จัดทำโครงการควบคุมและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี โดยเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมโรค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำหมันให้สัตว์เลี้ยงฟรี และประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการควบคุม ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ยังดำเนินการจัดกิจกรรมวันป้องกันโรคพิษสุนัขโลก ในวันที่ 28 กันยายนของทุกปี และเป้าหมายต่อไป คือ กำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไร เพื่อดำเนินการให้ประเทศไทยปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี ค.ศ. 2020 หรือในปี พ.ศ. 2563 ตามที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนด
   
              อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ต้นเหตุ คือ การเลี้ยงสัตว์ด้วยความเอาใจใส่ ไม่ทิ้งสัตว์ให้เป็นสัตว์จรจัด และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด เพียงเท่านี้ก็จะสามารถป้องกันโรคได้.

ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์


5 คำถามยอดฮิต เมื่อคิดให้อาหารน้องหมาแรกเกิด


เพราะลูกสุนัขที่เพิ่งเกิดใหม่ยังไม่สามารถช่วยเหลือ ตัวเองได้ในเรื่องอาหารการกิน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ต้องไปเสาะแสวงหาความรู้ กลวิธีในการให้อาหารแก่ลูกสุนัขตัวน้อยว่าควรกินอะไร และนี่คือ 5 คำถามคาใจเกี่ยวกับหลักการกินอาหารของลูกสุนัขที่หลายคนสงสัยใคร่รู้...
1. โภชนาการที่ดีและเหมาะสมสำหรับลูกสุนัข ควรเป็นอย่างไร?
          ตอบ : ในสุนัขแรกเกิดมีความแตกต่างจากสุนัขโตเต็มวัยหลายประการ ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายต่ำ การทำงานของอวัยวะยังไม่สมบูรณ์ ภาวะภูมิคุ้มกันที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ดังนั้น สุนัขควรได้รับอาหารที่ถูกต้องและเพียงพอต่อความต้อง การ เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ การขาดอาหารในลูกสุนัขจะทำให้ลูกสุนัขไม่แข็งแรงและอ าจจะมีปัญหาสุขภาพตามมาในอนาคต
          หากเป็นสุนัขที่คลอดได้เอง แม่สุนัขมักเลี้ยงลูกเองและไม่ต้องการให้คนเข้าไปยุ่ง ลูกสุนัขจะได้รับการดูแลจากแม่สุนัขอย่างดี ได้ดูดนมน้ำเหลือง (24-48 ชั่วโมงหลังคลอด) จะได้รับภูมิคุ้มกันโรคจากแม่มาด้วย ทำให้มีความทนทานต่อโรคมากกว่าลูกสุนัขกำพร้า โดยลูกสุนัขจะกินนมอย่างเดียวทุก 1-2 ชั่วโมง ระหว่างกินนั้น แม่สุนัขจะเลียลูกน้อยเพื่อกระตุ้นระบบขับถ่ายไปด้วย หลังกินอิ่มลูกสุนัขจะนอนหลับ หากลูกสุนัขร้องและคลานไปมาแสดงว่ากินไม่อิ่ม เจ้าของเองสามารถเข้าไปช่วยจับให้ลูกสุนัขดูดนมแม่ และต้องกันตัวอื่นๆ แยกออกมาก่อน
          สำหรับลูกสุนัขกำพร้า (ไม่มีแม่สุนัขหรือแม่ไม่เลี้ยง) ในช่วง 3-4 สัปดาห์แรก ควรให้กินเฉพาะนมสำหรับสุนัขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเจ้าของอาจต้องป้อนนมทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยในแต่ละครั้งควรให้ในปริมาณไม่มากหรือน้อยเกินไป (ควรปรึกษาสัตวแพทย์เนื่องจากต้องพิจารณาจากน้ำหนักแ ละอายุ) สิ่งที่ควรระวังจากการป้อนนมนั้น ก็คือการสำลักนม ซึ่งสามารถเกิดได้ง่ายในลูกสุนัขที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากการป้อนนมมากหรือเร็วเกินไป นมที่ป้อนอาจจะตกลงไปในหลอดลม ส่วนการกระตุ้นการขับถ่ายควรทำทุกครั้งหลังป้อนนม ซึ่งปกติอุจจาระของลูกสุนัขจะมีลักษณะเป็นก้อน สีเหลืองอมขาว ปัสสาวะควรเป็นสีใสหรือสีเหลืองใส
2. ลูกสุนัขควรกินอาหารอะไร ในปริมาณขนาดไหน และบ่อยเท่าไหร่?
          ตอบ : ลูกสุนัขยังไม่หย่านม สำหรับลูกกำพร้าให้หานมสำหรับสุนัขมาทดแทน ถ้าลูกสุนัขยังไม่แข็งแรงในสัปดาห์แรกอาจจะเสริมด้วย กลูโคส หรือน้ำตับดิน (Rawliver juice) ครั้งละ 2 - 3 CC หรืออาจจะให้วิตามินเสริม
          ลูกสุนัขหย่านม เริ่มให้อาหารอ่อน บดละเอียด อุดมด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ เป็นต้นไป โดยปกติลูกสุนัขจะหย่านมที่ประมาณ 6 - 7 สัปดาห์ ทั้งนี้ ชนิด ปริมาณ และความถี่ในการให้อาหารขึ้นอยู่กับอายุลูกสุนัข
          ช่วงที่มีการเจริญเติบโต อาหารอ่อนย่อยง่าย อาหารสำเร็จรูปสำหรับลูกสุนัข ที่มีระดับแคลเซียมไม่เกิน 1.8% และฟอสฟอรัสไม่เกิน 1.6%
3. สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของลูกสุนัขมีอะไรบ้าง
          ตอบ : การเสริมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน ในลูกสุนัขที่กำลังเติบโตเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะลูกสุนัขที่กินอาหารสำเร็จรูปเนื่องจากมีสาร อาหารที่เหมาะสมอยู่แล้ว
          นอกจากนี้ อย่าเป็นกังวลจนมากเกินไปนักหากลูกสุนัขไม่กินอาหารเลย หรือไม่กินอะไรเลยทั้งวัน เรื่องเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในตอนแรกๆ เดี๋ยวพอวันรุ่งขึ้นเขาก็เป็นปกติเอง อย่างไรก็ตาม หากเขามีอาการท้องเสีย อาเจียน หรืออาการเซื่องซึมประกอบด้วย ให้คุณรีบพาเขาไปพบสัตวแพทย์เสีย อาการอย่างนี้เป็นสัญญาณของโรคที่ไม่ธรรมดาเลย โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับลูกสุนัข
4. สำหรับอาหารสำเร็จรูปอย่างอาหารเม็ด หรืออาหารกระป๋อง มีวิธีการเลือกอย่างไร
          ตอบ : โดยทั่วไปแล้วอาหารเม็ดจะมีปริมาณน้ำและความชื้นน้อย ดังนั้น สุนัขควรมีน้ำตั้งไว้ตลอดเวลา แต่อาหารกระป๋องหรืออาหารเปียกจะมีปริมาณน้ำที่มากกว่า จะมีกลิ่นที่น่ากิน สุนัขจึงชอบกินอาหารเปียกมากกว่า แต่ถ้ากินนานๆ ไปเมื่ออายุมากขึ้นอาจจะมีปัญหาคราบหินปูน เนื่องจากไม่มีการกัดแทะของฟัน
5. อาหารต้องห้ามสำหรับลูกสุนัขที่ควรหลีกเลี่ยง
          ตอบ : มีผู้เลี้ยงบางกลุ่มนิยมให้อาหารสุนัขตามแต่ความต้อง การของตัวเอง โดยผู้เลี้ยงเข้าใจผิดว่า สุนัขมีความต้องการ และความสามารถในการกินได้เช่นเดียวกับคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความคิดที่ผิด อาหารที่คุณให้อาจย้อนกลับมาทำอันตรายถึงชีวิตแก่สุนัขแสนรักของคุณได้ มีอาหารต้องห้าม 3 อย่างของสุนัข ที่ผู้เลี้ยงควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาให้สุนัขกิน ได้แก่
          อาหารที่แข็งเกินไป เช่น กระดูกไก่ หากไม่จำเป็นคุณไม่ควรให้กระดูกไก่ ปลา ให้เจ้าสุนัขของคุณกินโดยเด็ดขาด แม้ว่าเจ้าสุนัขของคุณจะชื่นชอบอาหารเหล่านี้เพียงใด เพราะกระดูกไก่ ก้างปลา อาจแตกหักระหว่างที่สุนัขขบเคี้ยว สร้างมุมแหลม และความแหลมนี่เองอาจทิ่มแทงทำอันตรายสุนัขของคุณได้ ผู้เลี้ยงหลายคนให้เหตุผลในการให้อาหารเหล่านี้แก่สุ นัขว่า ต้องการให้แคลเซียมแก่สุนัข ซึ่งความจริงแล้วผู้เลี้ยงสามารถให้เม็ดแคลเซียม หรือนมอุ่นๆ แก่สุนัขแทนได้
          หัวหอมและกระเทียม ไม่ควรให้สุนัขรับประทานในปริมาณมาก เพราะหัวหอมและกระเทียมมีส่วนประกอบของกำมะถันอยู่มาก เพราะฉะนั้นไม่เหมาะแก่การผสมในอาหารให้กับเจ้าตูบ เนื่องจากว่าสารกำมะถันนี้จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของสุนัข จะทำให้โรคโลหิตจาง และโรคเลือดไหลไม่หยุดได้
          ช็อกโกแลต หลายคนเคยให้ช็อกโกแลตกับสัตว์เลี้ยงของท่าน โดยไม่รู้ว่าช็อกโกแลตเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อสุนัข สาเหตุเพราะช็อกโกแลตมีส่วนประกอบของสารชนิดหนึ่งชื่ อว่า Theobromine ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับสารพวก Caffeine (ซึ่งมีในพวกกาแฟ โกโก้) สาร Theobromine นี้เมื่ออยู่ในร่างกายมันจะมีฤทธิ์หลายอย่าง แต่ที่เห็นเด่นๆ ชัด คือ จะกระตุ้นให้มีการหลั่งสารที่เรียกกันว่า Adrenaline ซึ่งสารตัวนี้จะมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ถ้ากินมากๆ อาจถึงขั้นเป็นพิษได้จะทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย หายใจถี่ ฉี่บ่อย กระวนกระวาย และในที่สุดก็ถึงตายได้


ที่มา : Thaidogcenter.com และ Kapook.com
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต


บัญญัติ 13 ประการ สำหรับการ เลี้ยงสัตว์


1 .หาสัตว์เลี้ยงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ ในแง่คุณภาพของสัตว์เลี้ยง
2. ถ้าเป็นไปได้ สัตว์เลี้ยงที่หามาใหม่นั้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิแล้ว
3. หากไม่ทราบประวัติความเป็นมาของสัตว์เลี้ยงที่รับมาใหม่ ควรนำไปให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกาย ฉีดวัคซีน และถ่ายพยาธิก่อน
4. นำสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีน และถ่ายพยาธิตามระยะเวลาอย่างเคร่งครัด
5. สัตว์เลี้ยงตัวใดที่เจ็บป่วย ควรพาไปรับการรักษาจากสัตวแพทย์อย่างทันท่วงที
6. ต้องจัดหาพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้อาหารเป็นประจำและแน่นอน ต้องไม่อยู่ในครัว รวมทั้งต้องปราศจากหนูและแมลงสาบ
7. ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็กๆ ไปเล่นบริเวณที่ให้อาหารสัตว์เลี้ยงรวมทั้งภาชนะที่ใส่อาหารสัตว์
8. สิ่งปฏิกูลจากสัตว์เลี้ยง เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ต้องกำจัดให้หมดไป อาจทำได้โดยตักทิ้ง ฝังหรือกลบ รวมถึงใช้ปูนขาวหรือน้ำยาฆ่า
    เชื้อโรคล้าง
9.  หากใช้กระบะทรายเพื่อเป็นที่สำหรับให้สัตว์ขับถ่าย ควรทำความสะอาดทุดวัน
10. สตรีมีครรภ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการทำความสะอาดอุจจาระและปัสสาวะสัตว์เลี้ยง
11. สอนเด็กให้ล้างมือทุกครั้งหลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง และก่อนรับประทายอาหารตลอดจนไม่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์ที่กำลังป่วย
12. ไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงออกไปเพ่นพ่านนอกบ้าน โดยปราศจากการดูแล
13. กรณีของครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคภูมิแพ้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงในบ้าน

ที่มา :  หนังสือ "สอนให้หนู...รู้จักรักและเลี้ยงสัตว์"
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

ปัญหาเมื่อรับสุนัขโตมาเลี้ยง


ตามความเชื่อของคนเลี้ยงหมาทั่วไปในการเลือกหมามาเลี้ยงก็จะต้องเลือกเอาหมาเด็กอายุน้อยมาเลี้ยง ด้วยความเชื่อที่บอกต่อกันมาว่า หมาอายุมาก หมาโตเลี้ยงไม่เชื่อง ฝึกยาก หรือเชื่องยากกว่าลูกหมา ยิ่งเยาว์วัยยิ่งดี หมาจะเชื่อฟัง ซื่อสัตย์ ไม่ดื้อ ไม่กัด ฯลฯ           ปัจจุบันเรากำลังแก้ปัญหาหมาจรจัดด้วยแนวทางที่สำคัญอันหนึ่งคือ "การหาบ้านใหม่ให้หมาจรจัด" เมื่อหมาเหล่านั้นมีบ้านอยู่เป็นหลักแหล่ง มีผู้ดูแลรับผิดชอบ มันก็จะหมดสภาพจรจัดไป หมาจรจัดก็จะลดลง
          ปัญหาก็มีอยู่ว่าหมาจรจัดเหล่านั้นมักเป็นหมาโต มีอายุแล้ว มิใช่ลูกหมา หลายคนยังติดยึดความคิดเดิมๆ ดังข้างต้น ทำให้อัตราการรับหมาเหล่านั้นไปเลี้ยงจากสถานสงเคราะห์สัตว์น้อย ทั้ง ๆ ที่หมาเหล่านั้นถูกคัดเลือกมาโดยผ่านเกณฑ์จัดเป็น "หมานิสัยดี" คือ "ไม่กัดคน ไม่กัดหมา พาจูงได้" มันสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างดี อีกทั้งยังมีอายุพอควรผ่านโลกและโรคมาแล้ว มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดี โอกาสเลี้ยงรอดสูงกว่าหมาเด็ก หรือลูกหมาแน่ๆ ฯลฯ
          แต่ก็มีบางรายที่รับหมาจรจัดที่เป็นหมาโตไปเลี้ยงแล้วประสบปัญหาบางอย่างที่มิใช่คุณสมบัติหมานิสัยดี เช่น ขุดคุ้ยถังขยะ กัดขาโต๊ะ ตู้ มุดเข้าไปนอนใต้โซฟาหรือปีนขึ้นไปนอนบนเก้าอี้ ฯลฯ
          พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่หมาถูกปลูกฝัง หรือติดตัวมาตั้งแต่เป็นหมาจรจัด ดังนั้นหากคุณเข้าใจพื้นฐานพฤติกรรมเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ ช่วยแก้ไขคลี่คลายปัญหาที่กำลังประสบลงได้โดยเสริมกับวิธีหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
           จัดเตรียมที่ให้หมาใหม่อยู่เป็นสัดส่วน พอเหมาะไม่คับแคบ ไม่ถูกรบกวนด้วยคนหรือสัตว์อื่น รวมถึงเสียงต่างๆ เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ คุณสามารถกักให้เขาอยู่ในที่ส่วนตัวนี้ได้เมื่อไม่ต้องการให้เพ่นพ่านเป็นการฝึกนิสัยอย่างหนึ่ง
           จัดระเบียบชีวิตหมาให้เป็นไปตามที่คุณจะมีเวลา เช่น กินเป็นเวลา ปล่อยหรือพาไปจูงเดิน หรือเล่นเป็นเวลา ที่ตรงและสม่ำเสมอทุกวัน หมาโตจะรับรู้และเรียนได้เร็วกว่าลูกหมา
           สมาชิกในบ้านทุกคนต้องร่วมมือปฏิบัติตามกติกาต่อหมาใหม่ตัวนี้ เช่น ไม่เล่นรุนแรง ไม่ให้อาหารอื่นนอกเหนือจากที่จัดไว้ตามเวลา ให้ความรัก ความอ่อนโยน ที่สำคัญเด็กๆ อย่าเข้าใกล้ จับต้องหรือส่งเสียงก่อกวนเขา เนื่องจากหมาอาจหงุดหงิดได้ ต้องรอให้เขาปรับตัวสักพัก
           พาหมาไปจูงสำรวจบริเวณต่าง ๆ ในบ้านและอาณาเขตที่ต้องใส่สายจูงก็เพื่อให้เขารู้ว่าต้องตามและเชื่อฟังผู้เป็นจ่าฝูงคือคุณ ที่ใดไม่ควรไป ไม่ควรยุ่งเกี่ยวก็พาไปแล้วออกคำสั่ง "ไม่" หรือแสดงสีหน้าท่าทางไม่พอใจ หมาก็จะหยุด เช่น พาไปที่เก้าอี้ หากหมาแสดงท่าจะปีนขึ้นต้องออกคำสั่งและแสดงปฏิกิริยาในเชิงปฏิบัติหรือห้ามทันที อย่างนี้หมาก็จะเข้าใจ แทนที่จะตีซึ่งหมาไม่รู้เรื่องด้วยเลย
           หมาโตส่วนใหญ่จะปรับตัวเข้ากับบ้านใหม่ได้ง่าย หากได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม สัก 7 วันก็ใช้ได้ แต่หากยังไม่เป็นที่พอใจของคนในบ้านนัก ก็ยังฝึกต่อไป โดยสลับกับการให้อยู่ในที่จำกัดเช่นคราวแรกที่มา
           การฝึกหมาให้อยู่ในโอวาท ต้องกระทำ รื้อฟื้น ย้ำทวนอยู่เสมอ อย่าละเลยครับ !
โดย ปานเทพ รัตนากร
ที่มา : คมชัดลึก และ kapook.com
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

การดูแลสุนัข ในฤดูหนาว


  ปลายฝนต้นหนาว ช่วงการเปลี่ยนฤดูใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นไข้หวัด ในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวนี้เองมักจะพบได้ว่าสุนัขแสนรักก็มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหลาย ๆ โรค โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สุนัขมักจะเป็นโรคติดต่อซึ่งไม่มียาตัวใดที่จะฆ่าเชื้อไวรัสนี้ได้ การที่จะทำให้สุนัขหายป่วยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับระดับอุณหภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์เอง การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคอง โดยการให้น้ำเกลือ และป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นต้น
โรคชนิดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกสุนัขในช่วงฤดูหนาว
           ไวรัส canine herpevirus ลูกสัตว์แรกเกิดร่างกายมีอุณหภูมิต่ำ จะมีความไวต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายในลูกสัตว์แรกเกิดที่อายุระหว่าง 9-14 วัน ลูกสุนัขสามารถติดต่อจากแม่สัตว์ผ่านทางน้ำลาย น้ำจากช่องคลอด จะมีอาการกระวนกระวาย ร้องตลอดเวลา ปวดท้อง หายใจถี่ อาจชักหรือเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง การรักษาทำได้เพียงแบบประคับประคอง ได้แก่ การให้สารน้ำทดแทน และการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เพราะไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ดังนั้นควรรักษาสุขภาพแม่สุนัขให้แข็งแรง ให้ลูกสุนัขอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นประมาณ 37 องสาเซลเซียส
           โรคไข้หัดสุนัข canine distemper เกิดจาดการติดเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้หลายทางไม่ว่าจะเป็น ทางอุจจาระ น้ำลาย ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำตา และที่สำคัญคือการติดต่อผ่านทางอากาศและการหายใจอาการในรายที่รุนแรงจะพบว่าสัตว์มีน้ำมูกน้ำตา ไอ หายใจลำบาก ท้องเสีย อาเจียน ปอดปวม บริเวณจมูกและฝ่าเท้าจะหนาตัวขึ้น และอาการทางประสาท เช่น ชัก อัมพาต การรักษาทำได้เพียงแบบประคับประคอง เช่นเดียวกัน โรคไข้หัดสุนัขสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและไม่สัมผัสกับสุนัขที่ติดเชื้อ เนื่องจากสภาพอากาศเย็นนั้นความชุ่มชื้นของทางเดินหายใจส่วนต้นจะน้อยทำให้กระบวนการป้องกันโรคของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ จะติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
           โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งไวรัส แบคทีเรีย หรือรวมกันทั้งสองอย่าง สามารถติดต่อทางการหายใจหรือสิ่งคัดหลั่ง พบได้บ่อยโดยเฉพาะแหล่งขายสุนัขที่เลี้ยงแออัด การระบายและสภาพแวดล้อมไม่ดี ร้อน หนาว หรือลมโกรกมากเกินไป มักแสดงอาการแบบเรื้อรัง มีไข้ไม่สูงนัก กินอาหารได้แต่น้อย ไอมีเสมหะ อาจพบน้ำมูกข้นเล็กน้อย การรักษาจึงทำได้เพียงแบบประคับประคอง เช่นเดียวกันแต่ถ้าไม่รักษาอาจปอดปวม หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ ควรป้องกันโดยปรับสภาพแวดล้อม ออกกำลังกาย อยู่ในที่ที่อบอุ่น
          ทั้งนี้ อาจจะใส่เสื้อสำหรับสุนัขเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย จากทั้งหมดที่กล่าวมาพบว่า เรามักจะพบอัตราเสียชีวิตสูงที่สุดในลูกสุนัข ส่วนในรายสุนัขที่โตแล้วนั้น พบว่าอัตราการเสียชีวิตจะน้อยลงเนื่องจากร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานได้ ดังนั้น การทำวัคซีนตามโปรแกรมในลูกสุนัขเป็นการป้องกันโรคที่ดีอย่างหนึ่ง
          อย่างไรก็ตาม เจ้าของสุนัขควรตรวจเช็คประวัติวัคซีนประจำปี บำรุงรักษาสุขภาพร่างกายของสัตว์ให้แข็งแรง ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และงดการนำสุนัขไปพบปะกับสุนัขที่มีประวัติวัคซีนที่ไม่แน่นอน และพยายามให้ร่างกายสุนัขอบอุ่นอยู่เสมอ เท่านี้ก็สามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคไวรัสในช่วงหน้าหนาวนี้ได้แล้ว
ที่มา : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

รู้ได้อย่างไร แม่สุนัขตั้งท้อง

 คำถามนี้หลายๆท่านที่เลี้ยงสุนัขคงเคยได้ยินได้ฟังและอาจจะเป็นผู้หนึ่งเอ่ยคำถามนี้ขึ้นมาเสียเอง เนื่องจากหลายครั้งหลายหนที่เราคิดว่าแม่สุนัขของเราดูเหมือนว่าจะท้อง แต่ท้ายสุดก็ไม่ท้อง ทำให้ความมุ่งหวังที่บังเกิดขึ้นขณะที่เฝ้ารอลูกสุนัขตัวน้อยๆเป็นอันต้องสูญสิ้น

              ปัจจุบันการตรวจการตั้งท้องนั้นมีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีความน่าเชื่อถือหรือความแม่นยำ ตลอดจนค่าใช้จ่ายรวมถึงความยุ่งยากและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน เอาเป็นว่าในโอกาสอันดีนี้ ข้าพเจ้าจะพูดเฉพาะวิธีการตรวจท้องที่ได้รับความนิยมและไม่ยุ่งยากจนเกินไปอันได้แก่

1. การตรวจการตั้งท้องโดยดูลักษณะทางสรีรสภาพและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
              ลักษณะที่เปลี่ยนไปของแม่สุนัขหลังผสมพันธุ์ มักจะถูกสังเกตเห็นได้ง่ายโดยเจ้าของสุนัขเอง ลักษณะที่แสดงออกให้เห็นได้แก่ ช่องท้องเริ่มขยายใหญ่ เต้านมเริ่มขยายและหัวนมมีสีชมพูอ่อนๆ ปากช่องคลอดมีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับตอนช่วงก่อนที่แม่สุนัขแสดงอาการสัด รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปเช่น เคยกินอาหารได้ดีอาจเปลี่ยนเป็นไม่ค่อยกินอาหาร หรือบางตัวอาจจะกินอาหารมากกว่าปกติ บางตัวจะสงบเสงี่ยมมากขึ้น แต่บางตัวก็หงุดหงิดง่าย ลักษณะทางสรรีรสภาพและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของแม่สุนัขหลังการผสมพันธุ์บางตัวอาจจะสังเกตให้เห็นได้เร็ว บางตัวก็ใช้เวลานานถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย ที่เห็นเด่นชัดก็คือจำนวนลูกที่อยู่ในท้องแม่สุนัข แต่การตรวจท้องโดยวิธีนี้ความแม่นยำจะไม่สูงนักรวมทั้งไม่สามารถคอบคำถามได้ว่าแม่สุนัขจะมีลูกกี่ตัว และบ่อยครั้งเจ้าของแม่สุนัขมักจะอุปทานหรือมองเข้าข้างตนเองมากเกินไปทำให้มักเกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยได้มาก
2. การตรวจการตั้งท้องโดยวิธีการคลำผ่านทางหน้าท้อง
              ปกติตัวอ่อนของสุนัขจะอาศัยหรือฝังตัวอยู่ในส่วนปีกมดลูกของแม่สุนัขภายหลังการปฏิสนธิ 2 – 3 สัปดาห์ ในสุนัขบางสายพันธุ์เราจึงสามารถที่จะตรวจการตั้งท้องโดยใช้วิธีการคลำผ่านหน้าท้องเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของปีกมดลูก ซึ่งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ตรวจเป็นสำคัญรวมถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนจนเป็นเหตุทำให้เกิดการแท้งลูกขึ้น บ่อยครั้งที่ผู้ตรวจอาจคลำไปถูกอุจจาระของแม่สุนัขซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้วินิจฉัยผิดได้ การตรวจโดยวิธีนี้หากตรวจในช่วงท้ายๆของการตั้งท้องอาจพบว่าผู้ตรวจสามารถที่จะสัมผัสกับตัวอ่อนที่เคลื่อนไหวอยู่ในท้องของแม่สุนัขได้เลย แต่การตรวจโดยวิธีนี้ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าแม่สุนัขมีลูกกี่ตัว
3. การตรวจการตั้งท้องโดยวิธีการถ่ายภาพรังสี
              การตรวจการตั้งท้องวิธีนี้ใช้หลักการการผ่านของรังสีเอ็กซเรย์ หากรังสีไปตกกระทบกับส่วนที่มีความหนาแน่นสูงเช่นโครงกระดูกของลูกสุนัข จะมีผลทำให้รังสีไม่ผ่านส่วนโครงกระดูกนี้จึงทำให้เมื่อดูในฟิล์มจะพบว่าเป็นส่วนสีขาวเป็นรูปโครงกระดูกของลูกสุนัข เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจการตั้งท้องโดยวิธีการถ่ายภาพรังสีจะเป็นช่วงที่ลูกสุนัขมีการเจริญของกระดูกแล้วคือตั้งแต่ 6 สัปดาห์หลังการเกิดปฏิสนธิ การตรวจโดยวิธีนี้ค่อนข้างให้ความแม่นยำสูงและบอกได้ว่ามีลูกอยู่ในท้องอย่างน้อยกี่ตัวจากการนับโครงกระดูกที่เห็นในฟิล์ม แต่บ่อยครั้งจำนวนลูกที่ได้จริงอาจจะมากกว่าที่เห็นในฟิล์มเป็นผลเนื่องจากการเกิดการซ้อนทับกันของลูกในท้องทำให้มองไม่เห็นในฟิล์มเอ็กซเรย์
4. การตรวจการตั้งท้องโดยวิธีใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
              “อัลตร้าซาวด์” เป็นคำที่พูดกันติดปาก การตรวจโดยวิธีนี้จะมีความปลอดภัยและมีความแม่นยำค่อนข้างสูง สัตวแพทย์ผู้มีความชำนาญอาจตรวจพบการตั้งท้องได้เร็วที่สุด 20 วันหลังการผสมพันธุ์ แต่หากหลัง 28 วัน สัตวแพทย์ผู้ตรวจสามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจลูกสุนัขได้ ปัจจุบันการตรวจโดย
วิธีการนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมากเพราะสามารถตัดความกังวลใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากการถ่ายภาพรังสีเอ็กซเรย์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายก็ไม่สูงกว่าการถ่ายภาพรังสีจนเกินไป แต่การตรวจโดยวิธีนี้ก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าแม่สุนัขมีลูกกี่ตัว
5. การตรวจการตั้งท้องโดยการตรวจฮอร์โมน
              ฮอร์โมนที่มีความจำเพาะต่อการตรวจการตั้งท้องคือ รีแล็คซิน ฮอร์โมนตัวนี้ถูกสร้างขึ้นจาก รกของลูกสุนัขในท้องแม่สุนัข เพราะฉนั้นสุนัขที่ตั้งท้องจะมีฮอร์โมนตัวนี้ในระดับสูง ปัจจุบันบ้านเรามีชุดตรวจสำเร็จรูปสำหรับตรวจการตั้งท้องโดยวิธีนี้จำหน่าย แต่ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการตรวจการตั้งท้องโดยวิธีการอื่น แต่วิธีการตรวจค่อนข้างสดวกโดยตรวจจากเลือดของแม่สุนัขหลังผสม 21 วันจะให้ผลที่ 61 เปอร์เซ็นต์ หากตรวจภายหลังผสม 29 วันจะให้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถทราบผลภายใน 10 นาที ข้อดีของวิธีการตรวจวิธีนี้คือสามารถแยกการตั้งท้องจริงกับการตั้งท้องเทียมหรือท้องลมได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแม่สุนัขจะให้ลูกกี่ตัว
จากวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น ก็คงจะพอเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับให้ผู้เพาะพันธุ์สุนัขเป็นแนวทางเบื้องต้นในการจัดการกับตัวแม่พันธุ์สุนัข หลายวิธีค่อนข้างสดวกในการวินิจฉัย บางวิธีอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายและจำเป็นต้องพึ่งสัตวแพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัย บางวิธีบอกได้ถึงจำนวนลูกที่อยู่ในท้อง ก็ลองดูละกันนะครับ ถ้าไม่อยากรอจนถึง 2 เดือน ก็เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีมาประกอบกัน จะได้วางแผนจัดการกับแม่พันธุ์สุนัขและวางแผนจัดการกับลูกสุนัขที่จะเกิดขึ้นมาด้วยความพร้อมที่สุด

ที่มา : petnews (petnews2005.com)
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น